การประยุกต์เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อชีวิต
การประยุกต์เทคโนโลยีสารสนเทศกับการศึกษาการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาประยุกต์กับการศึกษานั้นมีการนำมาใช้กับระบบการศึกษาของไทยมาเป็นระยะเวลาหลายปีแล้ว เทคโนโลยีทางการศึกษาได้มีการพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีรูปแบบที่ส่งเสริมให้เกิดสภาพการเรียนรู้แบบใหม่ที่ทำให้ผู้เรียนได้มีช่องทางการเรียนรู้เพิ่มมากขึ้น
1. e-Learning
การพัฒนาการศึกษาโดยทำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้าประยุกต์เพื่อให้เกิดรูปแบบการศึกษาแบบใหม่ที่สามารถรองรับรูปแบบการศึกษาด้วยตนเอง การศึกษาตลอดชีวิต การนำคอมพิวเตอร์และเครือข่ายการสื่อสารโดยเฉพาะอินเทอร์เน็ตมาเป็นตัวช่วยในการเพิ่มความสะดวกสบายในการเรียนรู้ การวัดผล และการจัดการศึกษาเพื่อทดแทนหรือสนับสนุนการศึกษาแบบเดิม
e-Learning ย่อมาจากคำว่า electronic(s) learning เป็นการเรียนรู้ทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งรวมถึงการเรียนรู้ทางคอมพิวเตอร์หรือการเรียนโดยใช้คอมพิวเตอร์ด้วย (computer learning) เพื่อช่วยในการสอนแทนรูปแบบเดิม โดยสามารถใช้เทคโนโลยีอื่นๆ มาสนับสนุนด้วย เช่น วิดีโอ ซีดีรอม สัญญาณดาวเทียม เครือข่ายคอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต อินทราเน็ต รูปแบบของการเรียนรู้ทางอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนมากจะเป็นการเรียนแบบออนไลน์ ซึ่งทำให้สามารถโต้ตอบกันได้เสมือนการเรียนในชั้นเรียนปกติได้ การปรับปรุงเนื้อหาความรู้ให้ทันสมัย การนำเสนอด้วยสื่อมัลติมีเดียทำให้การเรียนการสอนแบบการเรียนรู้ทางอิเล็กทรอนิกส์มีความน่าสนใจมากขึ้น
คุณสมบัติอีกอย่างหนึ่งของการเรียนรู้ทางอิเล็กทรอนิกส์นั่นคือ การเรียนแบบระยะไกล หรือ distance Learning เนื่องจากการใช้เทคโนโลยีการสื่อสารโดยเฉพาะอินเทอร์เน็ตมาประยุกต์ ทำให้ผู้เรียนและผู้สอนไม่ต้องเดินทางมาเจอกันหรือเห็นหน้ากันในห้องเรียนปกติ แต่สามารถสื่อสารโต้ตอบกันได้ห้องเรียนเสมือน เทคโนโลยีเหล่านี้ยังช่วยส่งเสริมรูปแบบการเรียนรู้ด้วยตนเองอีกด้วย บางครั้งเราอาจได้ยินคำว่า “คอมพิวเตอร์ช่วยสอน” หรือ computer-assisted instruction (CAI) ซึ่งมักมีรูปแบบการสอนแบบออฟไลน์ หมายถึง ไม่เน้นการเรียนการสอนผ่านเครือข่าย แต่เน้นกับการเรียนด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลเป็นหลัก
ตัวแบบการเรียนรู้ทางอิเล็กทรอนิกส์แบบผสมผสาน (A hybrid e-Learning model) (Tsai, 2011, p.147) ประกอบด้วย โปรแกรมประยุกต์ส่วนต่างๆ ดังนี้
1. e-leaning map การเรียนโดยการออกแบบแผนที่การเรียนเฉพาะบุคคลซึ่งใช้ข้อมูลจากการทดสอบเบื้องต้น
2. on-line e-learning มี 2 ตัวเลือก คือ การถ่ายทอดสด กับ การถ่ายข้อมูลลงแบบออนไลน์
3. e-learning group ทรัพยากรในชุมชนการเรียนรู้ แลกเปลี่ยนกันได้โดยใช้เครื่องแม่ข่ายของกลุ่มข่าว เป็นการสื่อสารระหว่างผู้สอนกับผู้เรียนในการปฏิสัมพันธ์หรือแลกเปลี่ยนข่าวสารได้ทั้งภาพและเสียง
4. e-comprehension กระบวนการเรียนรู้ผ่านการสร้างสถานการณ์ กรณีศึกษา โดยใช้ข้อความหลายมิติ เว็บไซต์ มัลติมีเดีย คำถาม และอื่นๆ
5. e-illustration การใช้ภาพประกอบ แผนภาพ และมัลติมีเดีย เพื่อเป็นการยกตัวอย่าง ประกอบการอธิบายให้ชัดเจน
6. e-workgroup แบ่งผู้เรียนออกเป็นกลุ่มต่างๆ และจัดกิจกรรมทั้งภายในและระหว่างกลุ่ม เพื่อให้ได้ผลการเรียนรู้ร่วมกัน
2. มัลติมีเดียเพื่อการเรียนรู้
มัลติมีเดียเพื่อการเรียนรู้ หมายถึง การใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ถ่ายทอดหรือนำเสนอเนื้อหาและกิจกรรมการเรียนการสอน ที่บูรณาการหรือผสมผสานสื่อหลากหลายรูปแบบ (Multiple forms) เข้าไว้ด้วยกัน ได้แก่ ข้อความ กราฟิก ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว เสียง วีดิทัศน์ หรือรูปแบบอื่นๆ ที่นอกเหนือจากข้อความเพียงอย่างเดียว โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพต่อผู้เรียน (ณัฐกร สงคราม, 2553)
หลักการออกแบบเนื้อหา ประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่
1. การเตรียมเนื้อหา ประกอบด้วย การวางโครงสร้างของเนื้อหา การคัดเลือกเนื้อหาที่จะนำเสนอ การเรียงลำดับหัวข้อเนื้อหา และการใช้ภาษาให้เหมาะสม
2. การออกแบบเนื้อหาประเภทต่างๆ ประกอบด้วย การสร้างเนื้อหาด้านความรู้ ความจำ ความเข้าใจ การสร้างเนื้อหาด้านทักษะและการปฏิบัติ การสร้างเนื้อหาด้านทัศนคติ
3. การออกแบบข้อคำถามสำหรับการประเมิน ประกอบด้วย การสร้างแบบทดสอบก่อนเรียนและหลังเรียน การสร้างแบบฝึกหัด การสร้างคำถามที่ใช้ในบทเรียน
หลักการออกแบบการเรียนการสอน (Gagne, 19921 อ้างใน ณัฐกร สงคราม, 2553) นำเสนอตามขั้นตอนกระบวนการเรียนการสอนได้ 9 ขั้น ดังนี้
1. การกระตุ้นหรือเร้าความสนใจให้พร้อมในการเรียน
2. การแจ้งวัตถุประสงค์ของการเรียน
3. การทบทวนและกระตุ้นให้ระลึกถึงความรู้เดิม
4. การนำเสนอสิ่งเร้าหรือเนื้อหาและความรู้ใหม่
5. การแนะแนวทางการเรียนรู้
6. การกระตุ้นการตอบสนองหรือแสดงความสามารถ
7. การให้ข้อมูลป้อนกลับ
8. การทดสอบความรู้หรือการประเมินผลการแสดงออก
9. การส่งเสริมความจำหรือความคงทน และการนำไปใช้หรือการถ่ายโอนการเรียนรู้
3. Virtual Classroom
ห้องเรียนเสมือนเป็นห้องเรียนที่สามารถรองรับชั้นเรียนได้ในเวลาและสถานที่ซึ่งผู้เรียนกับผู้สอนไม่ได้อยู่ร่วมกันในสถานที่เดียวกัน โดยมีคุณลักษณะคือ การสนับสนุนการประเมินผลและการเข้ามีส่วนร่วมในการสื่อสารด้วยเครื่องมือต่างๆ ทั้งปฏิทินออนไลน์ โปรแกรมค้นหา และคำแนะนำออนไลน์ สำหรับการประเมินผลประกอบด้วย เครื่องมือมาตรฐาน สมุดเกรดออนไลน์ ข้อสอบและคำถาม การติดต่อกับผู้สอนสามารถทำได้ผ่านทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ ข้อความทันที ห้องสนทนา กระดานอภิปราย การถ่ายโอนไฟล์สำหรับรูปแบบการเรียนรู้ เป็นการสร้างความร่วมมือกับผู้เรียนร่วมชั้น และเรียนรู้แบบอิสระแบบตัวต่อตัว ประโยชน์ที่ได้รับคือ ความยืดหยุ่นและอำนวยความสะดวกให้กับผู้เรียน ด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับความสามารถในการเข้าถึงชั้นเรียนของผู้เรียนที่ขาดแคลนในท้องถิ่นต่างๆ (Dean, 2012)
ตัวอย่างของเทคโนโลยีที่นำมาประกอบกันให้กลายเป็นสภาพการเรียนรู้เสมือน (Aitken, 2010, p.31) ได้แก่
1. videoconferencing
2. web conferencing
3. audio conferencing
4. wikis เช่น wikipedia
5. virtual world เช่น Second Life
6. social network เช่น Twitter, Facebook, YouTube
4. Mobile Technology
ในปัจจุบันอุปกรณ์โทรศัพท์เคลื่อนที่ถูกออกแบบมาให้สามารถรองรับทั้งการรับ-ส่งข้อมูลด้วยเสียงและข้อความ โดยกำจัดข้อจำกัดด้านความสามารถของการส่งเนื้อหาที่เป็นวิดีโอได้ โดยเฉพาะการเข้าถึงอุปกรณ์อื่นๆ ที่สามารถนำมาเชื่อมต่อได้ทั้งเทคโนโลยีภาพเคลื่อนไหว เสียง ภาพลักษณ์ต่างๆ สามารถแปลงเข้าสู่อุปกรณ์โทรศัพท์เคลื่อนที่ได้ แนวโน้มของสังคมที่ต้องการเข้าสู่เครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้ผ่านทางโทรศัพท์เคลื่อนที่นั้นมีมากขึ้น เช่นเดียวกับการเรียนรู้ทางอิเล็กทรอนิกส์ก็ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงในเครื่องคอมพิวเตอร์อีกต่อไป โทรศัพท์เคลื่อนที่ก็กลายมาเป็นสภาพแวดล้อมที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของการเรียนรู้ทางอิเล็กทรอนิกส์ (Male and Pattinson, 2011, p.337)
การเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ภายนอก โทรศัพท์เคลื่อนที่สามารถเชื่อมต่อกับอุปกรณ์แสดงผลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์แสดงภาพอุปกรณ์เสียง เครื่องพิมพ์ ถ่ายโอนข้อมูลไปยังเครื่องคอมพิวเตอร์ เชื่อมต่อไมโครโฟนในการส่งข้อมูลเสียง และรับเสียงจากภายนอกแล้วแปลงเข้าสู่โทรศัพท์เคลื่อนที่ได้ รวมทั้งการเชื่อมต่อสัญญาณวิทยุสำหรับการถ่ายทอดการเรียนผ่านเครือข่ายวิทยุ
สำหรับการออกแบบการปฏิสัมพันธ์ การออกแบบการใช้งานจะมุ่งเน้นถึงประโยชน์ที่ได้รับ ได้แก่ การกระตุ้นให้ผู้เรียนมีความสนใจและใส่ใจในการเรียน เข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนรู้ มุ่งเน้นการเข้าเรียนของผู้เรียน เพราะระบบการเรียนรู้ทางอิเล็กทรอนิกส์ ไม่มีผู้สอนโดยตรง ทางระบบต้องลดช่องว่างนี้ลง การส่งเสริมการคิดทั้งในกรอบและนอกกรอบ คงรักษาสถานะเพื่อการเตรียมพร้อมเข้าสู่การเรียน ตลอดจนการสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกัน
ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และการสื่อสาร อินเทอร์เน็ต และรูปแบบการเรียนรู้ออนไลน์ เป็นสิ่งดึงดูดใจและเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังสำหรับการสอนและการเรียนรู้ เครือข่ายไร้สาย ระบบการจัดการบทเรียน มัลติมีเดียและเทคโนโลยีอื่นๆ ซึ่งเพิ่มมิติของความมั่งคั่งและซับซ้อนไปสู่การสร้างประสบการณ์เรียนรู้ การใช้การเรียนรู้ทางอิเล็กทรอนิกส์ให้มีประสิทธิภาพจะต้องมีการปรับเปลี่ยนบทบาทของครูผู้สอนและการสร้างความรู้ด้านเทคโนโลยีให้กับผู้เรียน รวมทั้งพัฒนาความน่าเชื่อถือและความก้าวไกลของโครงสร้างทางเทคโนโลยีด้วย ผู้เรียนต้องเข้าร่วมในห้องเรียนออนไลน์ โดยในเว็บไซต์จะต้องมีแนวการสอน คำอธิบายรายวิชา ข้อบังคับเบื้องต้น วัตถุประสงค์การเรียนรู้ งานที่มอบหมาย ให้เหมาะสมกับเวลาที่กำหนดให้ เพื่อให้ผู้เรียนสามารถสร้างความสำเร็จในการเรียนรู้ตามที่ตั้งไว้ได้ แต่อาจเกิดปัญหาขึ้นได้หากผู้เรียนยังขาดทักษะด้านคอมพิวเตอร์ ดังนั้นในช่วงแรกผู้สอนควรให้ความช่วยเหลือ แนะนำผู้เรียนให้เกิดความมั่นใจในช่วงสัปดาห์แรก นอกจากนี้การรักษาระเบียบวินัยของการเรียนก็เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในการก้าวไปสู่ความสำเร็จของการศึกษา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น